หน้าแรก
คำชี้แจงก่อนเรียน
รายละเอียดรายวิชา

 แบบทดสอบก่อนเรียน
 หน่วยที่ 1 ภาษาคอมพิวเตอร์เบื้องต้น
แบบทดสอบก่อนเรียนประจำหน่วย
1.1 โปรแกรมคอมพิวเตอร์
1.2 ภาษาคอมพิวเตอร์
1.3 ยุคของภาษาโปรแกรม
1.4 ตัวแปลภาษา
1.5 ขั้นตอนการพัฒนาโปรแกรม
แบบฝึกหัดที่ 1.1
แบบทดสอบหลังเรียนประจำหน่วย
 หน่วยที่ 2 เริ่มต้นกับภาษาซี
 หน่วยที่ 3 ข้อมูลพื้นฐานและตัวดำเนินการ
 หน่วยที่ 4 คำสั่งพื้นฐานในภาษาซี
 หน่วยที่ 5 คำสั่งควบคุมแบบทางเลือก
 หน่วยที่ 6 คำสั่งควบคุมแบบวนซ้ำ
 แบบทดสอบหลังเรียน
 บรรณานุกรม

แจ้งข่าว
 แหล่งเรียนรู้เพิ่มเติม
 ติดต่อครูผู้สอน
 ผู้พัฒนาบทเรียน
 

 
 
1. มีความรู้ความเข้าใจความหมาย โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ภาษาคอมพิวเตอร์
ยุคของภาษาคอมพิวเตอร์และตัวแปลภาษา
 
2. มีความรู้ความเข้าใจในขั้นตอนการเขียนและพัฒนาโปรแกรม
 
 
1. อธิบายความหมายของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้
2. อธิบายความหมายของภาษาและบอกยุคของภาษาคอมพิวเตอร์ได้
3. อธิบายความหมายของตัวแปลภาษาได้
4. อธิบายและบอกลำดับขั้นตอนของการพัฒนาโปรแกรมได้
5. อธิบายความหมายของรหัสเทียมและผังงานได้
6. บอกขั้นตอนการทำงานของโปรแกรมด้วยรหัสเทียมและผังงานได้
 
 
1.1 โปรแกรมคอมพิวเตอร์
1.2 ภาษาคอมพิวเตอร์
1.3 ยุคของภาษาโปรแกรม
1.4 ตัวแปลภาษา
1.5 ขั้นตอนการพัฒนาโปรแกรม
 
 
คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ชนิดหนึ่ง ใช้ในการประมวลผลข้อมูล สามารถทำงานตามคำสั่งได้รวดเร็ว แต่ไม่สามารถคิด ริเริ่มทำงานเองได้ ต้องอาศัยผู้ใช้งาน ควบคุม เปิด ปิด หรือสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานตามต้องการ ด้วยชุดคำสั่งที่เขียนขึ้น ซึ่งเรียกว่าโปรแกรมหรือซอฟต์แวร์
 
โปรแกรมคอมพิวเตอร์ หมายถึง ชุดคำสั่งที่มีขั้นตอน ตามลำดับ หรือตามเงื่อนไขที่กำหนด ที่สั่งให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงาน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามวัตถุประสงค์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ โปรแกรมระบบหรือซอฟต์แวร์ระบบ (System Software) และ โปรแกรมประยุกต์หรือซอฟต์แวร์ประยุกต์ (Application Software)
  1. โปรแกรมระบบหรือซอฟต์แวร์ระบบ (System Software) คือ ชุดคำสั่งที่ทำหน้าที่ควบคุมการปฏิบัติงานของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ตลอดจนทำหน้าที่ควบคุมด้านการสื่อสารข้อมูลในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ โปรแกรมระบบปฏิบัติการ (Operating System : OS) โปรแกรมแปลภาษาคอมพิวเตอร์ (Translator) และโปรแกรมอรรถประโยขน์ (Utility programs)

    1. โปรแกรมระบบปฏิบัติการ (Operating System : OS) เป็นโปรแกรมที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการประสานงานระหว่าง โปรแกรมต่าง ๆ กับ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถสั่งงานคอมพิวเตอร์ได้ คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องต้องถูกติดตั้งโปรแกรมระบบปฏิบัติการก่อนที่จะติดตั้งโปรแกรมใช้งานอื่น ๆ ระบบปฏิบัติการที่รู้จักกันทั่วไป เช่น วินโดวส์ (Wondows) , ลีนุกซ์ (linux) , ยูนิกซ์ (Unix) เป็นต้น

    2. โปรแกรมแปลภาษาคอมพิวเตอร์ (Translator) ทำหน้าที่แปลภาษาที่ผู้เขียนโปรแกรมเขียนขึ้นให้เป็นภาษาเครื่อง ที่คอมพิวเตอร์เข้าใจและสามารถปฏิบัติตามคำสั่งได้
    3. โปรแกรมอรรถประโยขน์ (Utility programs)
    4. คือ โปรแกรมที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับโปรแกรมระบบปฏิบัติการ โดยให้ผู้ใช้สามารถดูแลความปลอดภัยของข้อมูล และตรวจสอบอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เช่น โปรแกรมตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลในฮาร์ดดิสก์ (Scandisk) โปรแกรมตรวจไวรัส (Virun Scan) โปรแกรมบีบอัดข้อมูล (Compression Utility) โปรแกรมช่วยจัดระเบียบข้อมูลในฮาร์ดดิสก์ (Disk Defragmenter) เป็นต้น

  2. โปรแกรมประยุกต์หรือซอฟต์แวร์ประยุกต์ (Application Software) หมายถึง โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ถูกพัฒนาขึ้น เพื่อให้ระบบคอมพิวเตอร์ทำงานด้านต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ของผู้ใช้ แบ่งรูปแบบของการพัฒนาโปรแกรมออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ โปรแกรมสำเร็จรูป (Package Software) และโปรแกรมที่เขียนขึ้นเพื่อใช้งานเฉพาะด้าน (Application Specific)
    1. โปรแกรมสำเร็จรูป (Package Software) เป็นโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นมาโดยไม่เจาะจงสำหรับหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่พัฒนาขึ้นสำหรับงานทั่ว ๆ ไป ที่ผู้ใช้สามารถเลือกโปรแกรมเหล่านั้นไปประยุกต์ใช้กับงานของตนได้ทันที เช่น โปรแกรมประมวลคำ (Word Processing) โปรแกรมตารางงาน (Spreadsheet) โปรแกรมการนำเสนอ (Presentation) โปรแกรมจัดการฐานข้อมูล (Database) โปรแกรมกราฟิก (Graphics Software) เป็นต้น

    2. โปรแกรมที่เขียนขึ้นเพื่อใช้งานเฉพาะด้าน (Application Specific) เป็นโปรแกรมที่ถูกพัฒนาขึ้นสำหรับการใช้งานเฉพาะภายในหน่วยงาน และพัฒนาตามความต้องการของหน่วยงาน แต่ละหน่วยงาน เช่น โปรแกรมข้อมูลนักเรียน-นักศึกษา โปรแกรมสหกรณ์ร้านค้า เป็นต้น โปรแกรมประเภทนี้มีค่าใช้จ่ายในการพัฒนาสูง และใช้เวลาในการพัฒนานาน
 
 
 

มนุษย์สื่อสารกับมนุษย์ด้วยกันต้องอาศัยภาษาในการสื่อสารที่เข้าใจกันทั้งสองฝ่าย เช่น คนไทยใช้ภาษาไทยในการสื่อสารกัน คนอังกฤษใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารกัน เป็นต้น หากคนไทยกับคนอังกฤษ ต้องการสื่อสารกับคนอังกฤษให้เข้าใจกัน ต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องศึกษาภาษาอีกฝ่ายให้เข้าใจแล้วสื่อสารกันด้วยภาษานั้นแทน แต่วิธีนี้ยากต้องใช้เวลา หรือไม่ก็ใช้ตัวกลาง สื่อสารกันผ่านล่ามแปลภาษา คอมพิวเตอร์ก็เช่นกัน หากคนเราต้องการสื่อสารกับคอมพิวเตอร์ให้เข้าใจ ต้องใช้หลักคล้ายกัน โดยคนเราเลือกใช้ตัวแปลภาษามาแปลภาษา จากภาษาที่คนเราเข้าใจไปเป็นภาษาที่คอมพิวเตอร์เข้าใจ

คอมพิวเตอร์รับคำสั่งการทำงานเป็นสัญญาณไฟฟ้า เรียกว่า ภาษาเครื่อง (Machine Language) ซึ่งมนุษย์ทำความเข้าใจยาก เนื่องจากเป็นรหัสตัวเลขแบบต่าง ๆ ไม่สะดวกต่อการสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงาน จึงได้มีการพัฒนาภาษาที่ใช้กับคอมพิวเตอร์ขึ้นมาหลายภาษา แบ่งได้เป็น 2 ระดับ คือ ภาษาระดับต่ำ (Low-level Language) และภาษาระดับสูง (High-level Language)

  1. ภาษาระดับต่ำ (Low-level Language) เป็นภาษาที่ใกล้เคียงกับภาษาเครื่อง มีการใช้รหัสตัวอักษรสำหรับใช้แทนภาษาเครื่อง แต่ก็ยังยุ่งยากในการศึกษาเรียนรู้ จึงไม่สะดวกในการใช้งาน เช่น ภาษาแอสเซมบลี (Assembly Language) เป็นต้น จึงมีการศึกษาและพัฒนาภาษาที่ให้ผู้ใช้คอมพิวเตอร์เข้าใจได้ง่ายขึ้น
  2. ภาษาระดับสูง (High-level Language) เป็นภาษาที่สามารถศึกษาและทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้น เหมาะสำหรับการใช้งานในลักษณะต่างกัน มีหลายภาษาตามวัตถุประสงค์ของการพัฒนาขึ้นใช้งาน เช่น ภาษาซี (C Language) ภาษาจาวา (Java Language) ภาษาเบสิก (BASIC Language) ภาษาฟอร์แทรน (FORTRAN Language) เป็นต้น
 
 
 

ภาษาคอมพิวเตอร์ ได้ถูกพัฒนามาหลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่ยุคแรก การใช้ภาษายังมีความใกล้เคียงกับภาษาเครื่องคอมพิวเตอร์มาก เรียกว่า ภาษาระดับต่ำ (Low-level Language) แต่มีโครงสร้างและรูปแบบที่ยากต่อความเข้าใจของมนุษย์ ต่อมาได้พัฒนารูปแบบภาษาที่มีความใกล้เคียงกับภาษามนุษย์ เรียกว่า ภาษาระดับสูง (High-level Language) สามารถจำแนกยุคของภาษาคอมพิวเตอร์ได้ 5 ยุค ดังนี้

  1. ภาษาคอมพิวเตอร์ยุคที่ 1 (First Generation Language) ในยุคนี้จะสั่งงานคอมพิวเตอร์ด้วยภาษาเครื่อง เป็นภาษาที่สื่อสารกับคอมพิวเตอร์ได้โดยตรง คำสั่งในภาษาเครื่องประกอบด้วยตัวเลขฐานสอง มี 0 กับ 1 เป็นสัญลักษณ์แทนสัญญาณไฟฟ้า เนื่องจากเป็นรูปแบบภาษาที่สื่อสารกับคอมพิวเตอร์ได้โดยตรง จึงไม่ต้องมีตัวแปลภาษา การเขียนชุดคำสั่งในยุคนี้นั้น จะมีความยุ่งยากในการเขียนเป็นอย่างยิ่ง ยุคนี้จัดอยู่ในกลุ่มภาษาระดับต่ำ

  2. ภาษาคอมพิวเตอร์ยุคที่ 2 (Second Generation Language) พัฒนามาจากยุคที่ 1 เมื่อการเขียนคำสั่งภาษาเครื่องทำได้ยาก จึงได้พัฒนาโดยนำสัญลักษณ์มาใช้แทนรูปแบบตัวเลขในภาษาเครื่อง เพื่อให้สามารถเขียนคำสั่งได้ง่ายขึ้น ภาษาในยุดนี้ได้แก่ ภาษาแอสเซมบลี แต่คอมพิวเตอร์ไม่เข้าใจความหมายของชุดคำสั่งที่เขียนขึ้นด้วยรูปแบบภาษาแอสเซมบลี จึงต้องมีตัวแปลภาษา เรียกว่า แอสเซมเบลอร์ เพื่อช่วยแปลคำสั่งภาษาแอสเซมบลีให้เป็นภาษาเครื่อง เพื่อให้คอมพิวเตอร์เข้าใจ ยุคนี้ก็ยังจัดอยู่ในกลุ่มภาษาระดับต่ำ
  3. ภาษาคอมพิวเตอร์ยุคที่ 3 (Third Generation Language) ในยุคนี้ได้พัฒนารูปแบบภาษาให้มีความใกล้เคียงกับภาษาของมนุษย์ยิ่งขึ้น เรียกว่า ภาษาระดับสูง โดยนำกลุ่มคำของภาษาอังกฤษมาใช้เป็นรูปแบบของการเขียน ช่วยให้โปรแกรมภาษาในยุคนี้มีรูปแบบคำสั่งที่ง่ายต่อการเรียนรู้และเข้าใจ การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในยุคนี้ เป็นรูปแบบเชิงกระบวนการ จะเขียนคำสั่งเป็นขั้นเป็นตอนเรียงลำดับ โดยผู้เขียนจะต้องจดจำรูปแบบคำสั่งต่าง ๆ จึงยังเป็นเรื่องที่ยุ่งยากสำหรับการเขียนโปรแกรม ตัวอย่างภาษาในยุคที่ 3 เช่น ภาษาซี ภาษาเบสิก ภาษาปาสกาล และภาษาฟอร์แทรน เป็นต้น ภาษาในยุคนี้จะมีตัวแปลภาษา 2 ประเภท คือ คอมไพเลอร์ (Compiler) และอินเทอร์พรีเตอร์ (Interpreter)
  4. ภาษาคอมพิวเตอร์ยุคที่ 4 (Fourth Generation Language) ภาษาในยุคที่ 3 มีความยุ่งยาก ซับซ้อน ในการออกแบบโปรแกรม จึงต้องการผู้ที่มีประสบการณ์สูงในการเขียนโปรแกรมเหล่านั้น เพื่อให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด ไม่เหมาะกับนักเขียนโปรแกรมมือใหม่ จึงมีการพัฒนาภาษาคอมพิวเตอร์ขึ้นมาใหม่ เป็นภาษาคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะการเขียนที่ไม่เป็นลำดับขั้นตอน หรือไม่มีรูปแบบที่แน่นอน เพียงหยิบเอาปุ่มคำสั่งต่าง ๆ มาวาง ผู้เขียนโปรแกรมรู้เพียงว่าจะให้คอมพิวเตอร์ทำอะไรบ้าง โดยไม่ต้องรู้ว่าทำได้อย่างไร แต่เป็นหน้าที่ของภาษาคอมพิวเตอร์เหล่านั้นมาจัดการแทน รูปแบบของภาษาคอมพิวเตอร์ยุคนี้ช่วยทำให้การเขียนโปรแกรมทำได้ง่าย สะดวก และรวดเร็วขึ้น เรียกว่า ภาษาระดับสูงมาก (Very-high-level Language) ภาษาคอมพิวเตอร์ในยุคที่ 4 นี้ ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อทำงานด้วยตนเอง แต่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อนำไปใช้ทำงานร่วมกับภาษาอื่น เช่น นำภาษา SQL มาใช้ร่วมกับ ภาษา PHP เป็นต้น
  5. ภาษาคอมพิวเตอร์ยุคที่ 5 (Fifth Generation Language) ภาษาคอมพิวเตอร์ในยุคที่ 5 นี้ มีความใกล้เคียงกับภาษามนุษย์มากยิ่งขึ้น เรียกว่า ภาษาธรรมชาติ (Natural Language) ผู้ใช้สามารถสั่งงานด้วยเสียง เป็นการนำระบบฐานความรู้มาช่วย โดยจะแปลความของคำสั่งเพื่อทำให้คอมพิวเตอร์เข้าใจและจำโครงสร้างของคำสั่งเหล่านั้นไว้ ภาษาธรรมชาตินี้จะนำไปประยุกต์ใช้กับระบบผู้เชี่ยวชาญ และระบบปัญญาประดิษฐ์ เช่น การพัฒนาหุ่นยนต์ให้มีความสามารถในการทำงานเหมือนมนุษย์ และสามารถสื่อสารกับมนุษย์ได้ การใช้เสียงเป็นรหัสผ่านในการสั่งให้โปรแกรมที่กำหนดไว้เริ่มทำงาน เป็นต้น
 
 
 
การเขียนโปรแกรมด้วยภาษาใดก็ตาม จะต้องมีตัวแปลภาษาเพื่อแปลโปรแกรมที่เขียนขึ้น ให้เป็นภาษาเครื่อง จึงจะใช้งานได้ เพราะคอมพิวเตอร์รับรู้เฉพาะภาษาเครื่องได้เพียงภาษาเดียวเท่านั้น
 

ตัวแปลภาษามี 2 ประเภท คือ คอมไพเลอร์ (Compiler) และอินเทอร์พรีเตอร์ (Interpreter)

  1. คอมไพเลอร์ (Compiler) จะทำการแปลชุดคำสั่งทุกคำสั่งที่เขียนขึ้นจากโปรแกรมภาษาใด ๆ ทั้งหมด ให้เป็นแฟ้มชุดคำสั่งภาษาเครื่องก่อน แล้วจึงสามารถนำแฟ้มภาษาเครื่องนั้น ไปสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงาน โปรแกรมที่เขียนด้วยภาษาใด ๆ เรียกว่า โปรแกรมต้นฉบับ (Source Program) เมื่อแปลโดยตัวแปลภาษาแล้ว จะได้ผลเป็นโปรแกรมภาษาเครื่อง เรียกว่า โปรแกรมจุดหมาย (Object Program) ดังภาพ



    ตัวแปลโปรแกรมภาษาต่าง ๆ มีจะมีชื่อเรียกตามภาษานั้น เช่น
    Assembler ตัวแปลโปรแกรมภาษาแอสเซมบลี
    C Compiler ตัวแปลโปรแกรมภาษาซี
    COBOL Compiler ตัวแปลโปรแกรมภาษาโคบอล
       
  2. อินเทอร์พรีเตอร์ (Interpreter) จะแปลโปรแกรมต้นทางทีละคำสั่ง ให้เป็นคำสั่งภาษาเครื่อง แล้วทำงานตามคำสั่งนั้นเลย เมื่อทำงานตามคำสั่งนั้นเสร็จแล้ว ก็จะทำการแปลคำสั่งต่อไปอีกเรื่อย ๆ จนจบโปรแกรม เหมาะสำหรับโปรแกรมที่ไม่ยาวมาก และต้องการผลลัพธฺ์ทันที ตัวแปลภาษาจะมีชื่อเรียกตามภาษานั้น ๆ เช่น ตัวแปลคำสั่งภาษาเบสิก (BASIC Interpreter)
 
 
 

การพัฒนาโปรแกรมมี 6 ขั้นตอน ดังนี้

1. การวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการของผู้ใช้ (Problem Analysis and user Requirement) นักเขียนโปรแกรมจะได้รับมอบหมายจากนักวิเคราะห์ระบบให้พัฒนาโปรแกรม ซึ่งจะต้องเขียนโปรแกรมตามความต้องการของผู้ใช้ นักเขียนต้องทำความเข้าใจปัญหา ศึกษาและสอบถามความต้องการของผู้ใช้อย่างละเอียด และต้องให้ผู้ใช้ยืนยันว่า นักเขียนโปรแกรมเข้าใจปัญหาและความต้องการถูกต้องดีแล้ว
   
   
 

ตัวอย่าง การวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการของผู้ใช้

การเขียนโปรแกรมคำนวณหาพื้นที่สามเหลี่ยม

การวิเคราะห์

- ต้องทราบว่าใช้สูตรอะไรได้บ้าง
   
 
2. การกำหนดรายละเอียดของโปรแกรม (Program Specification) เป็นการกำหนดความสามารถและขีดจำกัดของโปรแกรมให้ชัดเจน เช่น กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลเข้า ขั้นตอนการประมวลผล และรายละเอียดการประมวลผลตามที่ต้องการ
   
   
 

ตัวอย่าง การกำหนดรายละเอียดของโปรแกรมคำนวณหาพื้นที่สามเหลี่ยม

รายละเอียดของโปรแกรม

- ข้อมูลเข้า
ความยาวฐาน
ความสูง

- การประมวลผล
คำนวณพื้นที่สามเหลี่ยม

- การแสดงผล
แสดงผลพื้นที่สามเหลี่ยม

ขีดจำกัดของโปรแกรม
คำนวณพื้นที่สามเหลี่ยมได้ครั้งละรูปเท่านั้น หากต้องการคำนวณอีก
ต้องเปิดโปรแกรมใหม่

   
 

3. การออกแบบโปรแกรม (Program Design) เป็นการกำหนดลำดับขั้นตอนการทำงานของโปรแกรม หรือวิธีการที่จะใช้ในการแก้ปัญหา (Algorithm) เครื่องมือที่ใช้ในการออกแบบโปรแกรม เช่น รหัสเทียม (Psuedo-code) และผังงาน (Flowchart) มีรายละเอียดดังนี้

  • รหัสเทียม (Psuedo-code)

ในการเขียนลำดับขั้นตอนการทำงานของโปรแกรมหรือการทำงานของแต่ละฟังก์ชัน โดยไม่ใช้ภาษาคอมพิวเตอร์โดยตรง แต่เป็นภาษาที่มนุษย์ใช้ อาจเป็นภาษาอังกฤษ หรือภาษาไทย ก็ได้

 
ตัวอย่างรหัสเทียม โปรแกรมคำนวณพื้นที่สามเหลี่ยม
เริ่มโปรแกรม

ประกาศตัวแปร area , base , height เป็นจำนวนจริง

รับค่าความยาวฐาน เก็บในตัวแปร base

รับค่าความสูง เก็บในตัวแปร height

ประมวลผล หาพื้นที่สามเหลี่ยม area = 0.5 * base * height

แสดงผล พื้นที่สามเหลี่ยม area

จบโปรแกรม
 
  • ผังงาน (Flowchart)
เป็นการเขียนลำดับขั้นตอนการทำงานของโปรแกรมหรือการทำงานของแต่ละฟังก์ชัน โดยใช้สัญลักษณ์แทนคำสั่ง โดยเขียนจากบนลงล่าง โดยใช้เส้นลูกศรแสดงทิศทาง สัญลักษณ์ที่ใช้เขียนผังงานและความหมายตามมาตรฐาน ISO ที่ควรทราบมีดังนี้

สัญลักษณ์ที่ใช้ในการเขียนผังงานทั่วไป

สัญลักษณ์ที่ใช้เขียนผังงานที่เกี่ยวกับข้อมูลเข้า/ออก

 
 

ตัวอย่างผังงาน โปรแกรมคำนวณพื้นที่สามเหลี่ยม

 
 
 
4. การเขียนโปรแกรม (Coding) การเขียนโปรแกรม คือ การเขียนรหัสคำสั่งโปรแกรมตามที่ออกแบบไว้ในผังงานหรือรหัสเทียม การเขียนโปรแกรมด้วยภาษาใด ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของงานและความถนัดของนักเขียนโปรแกรมด้วย เช่น ภาษาซี โดยอาจเขียนในโปรแกรมพิมพ์ข้อความ (Text editor) ใดก็ได้ เช่น Notepad , EditPlus หรือใช้โปรแกรมพิมพ์ข้อความที่มีอยู่ในชุดพัฒนาโปรแกรมของตัวแปลภาษาที่เรียกว่า ไอดีอี (IDE - Integrated Development Environment) ซึ่งจะสะดวกกว่า แล้วบันทึก เก็บไว้เป็นแฟ้มโปรแกรม (Source File) โดยใช้นามสกุลตามข้อกำหนดของภาษาที่ใช้ เช่น .c หมายถึง โปรแกรมภาษาซี
 

ตัวอย่างโปรแกรมภาษาซี โปรแกรมคำนวณพื้นที่สามเหลี่ยม ( trian.c )

#include <stdio.h>
int main(){
float area , base , height;

scanf("%f %f" , &base , &height);

area = 0.5 * base * height;

printf("Area of Triangle = %.2f" ,area);

return 0;
}

 
 

5. การทดสอบโปรแกรม (Testing) และการแก้ไขข้อผิดพลาด (Debugging)

การตรวจสอบโปรแกรมสามารถทำได้ด้วยสายตา ว่าโปรแกรมที่พิมพ์ตรงกับที่เขียนไว้หรือไม่
แล้วให้ตัวแปลภาษาทำการแปลโปรแกรม เรียกว่า คอมไพล์ (Compile) เพื่อหาว่ามีข้อผิดพลาดอะไรบ้าง เช่น ผิดรูปแบบคำสั่ง (Syntax Error) หรือผิดอื่น ๆ เมื่อพบที่ผิดก็ต้องแก้ไข แล้วแปลโปรแกรมใหม่ จนกว่าจะคอมไพล์ผ่านได้เป็นแฟ้มจุดหมาย (Object File) ซึ่งมีนามสกุลเป็น .obj

ตัวอยางผลการคอมไพล์โปรแกรม คำนวณพื้นที่สามเหลี่ยม (trian.c -> trian.obj)

เมื่อไม่มีข้อผิดพลาดจากการคอมไพล์แล้ว จึงทำการสร้างแฟ้มโปรแกรมใช้งานที่เป็นภาษาเครื่อง ซึ่งมีนามสกุล .exe

เมื่อได้แฟ้มที่เป็นภาษาเครื่อง .exe แล้ว ก็สามารถทดสอบการทำงานของโปรแกรม เพื่อหาข้อผิดพลาดขณะทำงาน (Run-time Error) โดยใช้ข้อมูลทดสอบ (Test Data) และหาว่าตรรกะของโปรแกรมผิดหรือไม่ (Program Logic Error) โดยตรวจสอบและแก้ไขจนแน่ใจว่าโปรแกรมทำงานได้ถูกต้อง

ตัวอยางผลการทดสอบโปรแกรม คำนวณพื้นที่สามเหลี่ยม (trian.c -> trian.exe)

 

6. การจัดทำเอกสารประกอบโปรแกรม (Documentation)

การจัดทำคู่มือการใช้โปรแกรมและเอกสารประกอบโปรแกรม เพื่อให้ผู้ใช้งาน สามารถใช้โปรแกรมได้สะดวก โดยคู่มือการใช้โปรแกรมควรอธิบายขั้นตอนต่าง ๆ ที่จำเป็นในการใช้งาน ความสามารถและขีดจำกัดของโปรแกรม ตัวอย่างการใช้งานต่าง ๆ เช่น การนำข้อมูล การแสดงผลหรือรายงาน ที่ได้จากการทำงานของโปรแกรม เป็นต้น